โปรเจกต์ “ยกระดับสิทธิบัตรทอง” ลดความเหลื่อมล้ำ หรือเพิ่มภาระ รพ.?
ข่าวล่าสุดจากเรา
ปฏิวัติวงการสุขภาพ หลัง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศมอบนโยบายให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกระดับสิทธิ์ บัตรทอง ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลทุกแห่ง ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล
และจากนี้ยังยืนยันว่า ต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถา ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ต้องอยู่ด้วยศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะยากดีมีจน
“สิ่งที่อยากเห็น คือ เมื่อผู้ป่วยไปรักษาที่ไหน ก็ต้องได้รับบริการตรงนั้นเลย ไม่ต้องมาแยกว่าจดทะเบียน รพ.แถวบ้านต้องใช้สิทธิตามนั้น ไม่ใช่อีกต่อไป ซึ่งต้องพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วยความรวดเร็ว
เพราะเรื่องสุขภาพประชาชนจะรอไม่ได้ มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ และเชื่อว่า สปสช. ก็พยายามดำเนินการเรื่องนี้อยู่ แต่ผมทำให้เป็นนโยบายจะได้มีความชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง จะต้องไม่มีคำว่าอนาถา คนไทย ต้องได้รับการดูแลอย่างดีในระบบสาธารณสุขของไทย”
ส่วนจะใช้เวลาอีกนานหรือไม่ที่ประชาชนจะได้ใช้สิทธิบัตรทองได้ทุกโรงพยาบาล ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าต้องทำให้รวดเร็ว สิ่งสำคัญ คือ ข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ซึ่งเรื่องอื่นๆ อย่างเครือข่ายรพ.ต่างๆ ก็พร้อมหมดแล้ว ซึ่งท่านเลขาธิการ สปสช.ได้รับเรื่องไปแล้ว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังย้ำอีกว่า จากนี้ไปจะไม่มีผู้ป่วยอนาถา คำว่าผู้ป่วยอนาถาต้องไม่มี ความเหลื่อมล้ำไม่มี คนไทยจะอนาถาไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะยากดีมีจน
สำหรับสิทธิบัตรทองแบบใหม่นั้น หากมาลองเทียบแบบเก่า ก็สรุปได้คือจะเปลี่ยนจากเดิมที่ให้รักษากับโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนไว้ เปลี่ยนเป็นรักษาได้ทุกโรงพยาบาล สามารถใช้สิทธิบัตรทองรักษาที่ไหนก็ได้
ขณะเดียวกัน แน่นอนว่าหลังจากมีประกาศจะยกระดับบัตรทองขึ้น สังคมหลายส่วนก็ตั้งคำถามถึงปัญหาช่องโหว่ พร้อมมีกระแสว่าหากให้สิทธิคนไข้รักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องรักษาในโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนบัตรทองจะทำให้คนไข้จะไปกระจุกตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัด หรือในโรงพยาบาลศูนย์ งานหนักก็จะไปตกอยู่ที่หมอตรวจไม่ไหว เพราะคนจะแห่กันไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ กันหมด