สปสช.ยืนยัน โควิด-19 รักษาฟรี รพ.เอกชนห้ามเรียกเก็บเงินประชาชน

ข่าวล่าสุดจากเรา

สปสช. ย้ำค่าตรวจรักษาโควิด-19 ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้ไปรับบริการในโรงพยาบาลเอกชน ขอความร่วมมือโรงพยาบาลอย่าเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยก่อนแล้วค่อยคืนให้ทีหลัง ให้มาเบิกจาก สปสช. โดยตรง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงประเด็นเรื่องค่ารักษาโควิด-19 ในโรงพยาบาลเอกชน ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 5 พ.ค. 2564 โดยระบุว่า สปสช.มีหน้าที่จัดสรรงบประมาณแก่โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่เกี่ยวกับโควิด-19 ขอยืนยันว่าคนไทยทุกคนทุกสิทธิ หากจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หรือแพทย์มีดุลพินิจให้ตรวจ สามารถเข้ารับการตรวจได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย และถ้าติดเชื้อก็มีสิทธิได้รับการรักษาฟรีไม่ว่าจะเข้าโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน

“ส่วนค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลจะมาเรียกเก็บเอาจาก สปสช.ตามอัตราที่ประกาศกำหนด ซึ่งเป็นอัตราที่มีการตกลงกันกับทุกหน่วยบริการและผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้น ขอยืนยันว่าถ้าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่ต้องได้รับการคัดกรอง สามารถตรวจฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย และถ้าผลตรวจพบว่าติดเชื้อ โรงพยาบาลจะให้การดูแลตามความรุนแรงของอาการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า งบประมาณต่างๆ สปสช. และกองทุนสุขภาพอื่นๆได้เตรียมไว้หมดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆจากประชาชน

“ค่าใช้จ่ายในการรักษาเฉลี่ยต่อคนประมาณ 1 แสนบาท แต่บางรายที่อาการรุนแรงก็จะเบิกเยอะขึ้น สปสช.เคยจ่ายสูงสุด 1 ล้านบาท ซึ่งอัตราที่จ่ายเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด อีกทั้งผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว สปสช.ก็ใช้ราคานี้ในการจ่าย ต้องให้ความมั่นใจว่าเราเตรียมงบประมาณค่าตรวจรักษาไว้แล้วตามอัตราที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุที่โรงพยาบาลต้องไปเก็บเพิ่มจากประชาชน” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า สปสช.ได้เตรียมงบไว้ 1.1 หมื่นล้าน จ่ายไปแล้ว 7,000 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นค่าตรวจคัดกรอง อีกครั้งหนึ่งเป็นค่ารักษา อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาอาจถูกโรงพยาบาลเอกชนวิจารณ์ว่าจ่ายเงินช้า ทำให้ต้องไปเรียกเก็บจากผู้รับบริการก่อน แต่ขณะนี้ได้ปรับระบบให้จ่ายเงินเร็วขึ้นทุกๆ 2 สัปดาห์ และยังมีสายด่วนให้โรงพยาบาลเอกชนโทรมาสอบถามหากมีข้อสงสัยได้ด้วย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันของโรงพยาบาลที่กังวลว่าจะได้เงินช้า ดังนั้น ต้องต้องขอความร่วมมืออย่าเก็บเงินประชาชนก่อนแล้วค่อยคืนให้ในภายหลังเมื่อได้รับจาก สปสช.แล้ว ให้มาเบิกเอาจาก สปสช.โดยตรงได้เลย รวมทั้งต้องขอความร่วมมือประชาชนด้วยว่าโรคนี้เป็นโรคติดต่อร้ายแรงและเป็นเหตุฉุกเฉิน ไม่สามารถเลือกว่าจะเอาห้องพิเศษหรือต้องการพยาบาลเพิ่มได้ การดูแลขึ้นอยู่กับอาการ ทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขทางการแพทย์ ต้องขอความร่วมมือว่าถ้าแพทย์ให้อยู่ที่ไหนก็อยู่ที่นั่นก่อน

ที่มา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
https://www.nhso.go.th/news/3074